ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต)
ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิโีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) มีชื่อย่อว่า ศทศ. ตั้งอยู่บนเลขที่ 10/2 หมู่ 2 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110 เป็นหน่วยงานหนึ่งของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ภารกิจสำคัญคือ การจัดผลิตเผยแพร่และพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งให้บริการในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ETV) สถานีวิทยุโทรทัศน์อื่นๆ ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือผ่านสื่อรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งให้ความรู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์และการผลิตรายการแก่หน่วยงานเครือข่าย
ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 13 ไร่ 2 งาน เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ห้องผลิตรายการโทรทัศน์ (Studio) ห้องตัดต่อรายการโทรทัศน์ (Edit) ห้องประชุมขนาดต่างๆ มีชุดถ่ายทำรายการโทรทัศน์นอกสถานที่แบบกล้องเดี่ยว (ENG) และแบบหลายกล้อง (EFP) ดังนั้น เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนและเป็นการให้บริการหน่วยงานภายนอกที่มีความจำเป็นต้องผลิตรายการต้องใช้อุปกรณ์เพื่อการผลิตหรือเพื่อการตัดต่อรายการโทรทัศน์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เปิดบริการห้องบันทึกรายการ ห้องตัดต่อรายการให้กับบุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้บริการได้ด้วย
การบริหารจัดการหน่วยงาน
1. การบริหารงาน (Management) ให้ความสำคัญกับ
- การทำงานที่เป็นระบบ (System) มีความยืดหยุ่นกรอบการทำงานชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด
- การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อให้บุคลากรรับทราบข้อมูลไปพร้อมๆกัน โดยจัดประชุมศูนย์ฯ ทุก 2-3 เดือนดูแลการรับส่งหนังสือระหว่าง ศท. กับ ศทศ.ระบบโทรศัพท์ภายในปรับปรุงบอร์ดประชาสัมพันธ์แผ่นพับศูนย์ฯ ป้ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ฯ บนถนนหลวงประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของ ศท.และการจัดทำระบบการประชุมทางไกลระหว่าง ศท. กับ ศทศ.
- การจัดทำแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อการพัฒนาศูนย์ผลิตฯ (รังสิต)ทั้งแผนการพัฒนาครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างแผนการพัฒนาบุคลากรแผนป้องกันน้ำท่วมแผนการประหยัดพลังงาน ฯลฯรวมทั้งการจัดทำ 5 ส และการจัดทำระบบ KM
- การพัฒนาฐานข้อมูล การพัฒนาเว็บไซต์ของศูนย์ผลิตฯ (รังสิต) และการเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตรายการโทรทัศน์ระหว่าง ศท. กับ ศทศ.
- การบริหารเรื่องสำคัญๆ อาทิระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของอาคารสถานที่การใช้ศักยภาพของศูนย์ผลิตฯ (รังสิต)ให้เต็มประสิทธิภาพและระบบซ่อมบำรุงดูแลรักษาอุปกรณ์ฯลฯเป็นต้น
2. บุคลากร (Man) ให้ความสำคัญกับ
- การทำงานเป็นทีม มีการมอบหมายความรับผิดชอบทั้งหัวหน้าฝ่าย/เจ้าหน้าที่ทุกคน
- การสร้างคนพัฒนาคนเพื่อการโปรโมทคนทำงานที่มีศักยภาพสูงให้ขึ้นเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารต่อไป
- การจัดทำรายละเอียดของงาน (Job description : JD) ของบุคลากรแต่ละคนเพื่อให้ทราบขอบข่ายของงานที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ
- แผนพัฒนาบุคลากรแต่ละคน อาทิการพัฒนาด้านภาษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทักษะการผลิตรายการโทรทัศน์ ฯลฯเป็นต้น
- ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของบุคลากรทุกคน และการพิจารณาความดีความชอบขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด (พฤติกรรมหน้าที่หลักและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายพิเศษ)
3. งบประมาณ (Money) ให้ความสำคัญกับ
- การจัดทำแผนของบประมาณรายปี ทั้งแผนเร่งด่วนและแผนระยะยาว (3-5 ปี) ทั้งงบปกติเพื่อการผลิตรายการโทรทัศน์ และงบลงทุนด้านครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
- การจัดหางบประมาณที่เป็นงบเหลือจ่ายของแต่ละปีเพื่อรซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารศูนย์ผลิตฯ (รังสิต) และเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตรายการโทรทัศน์
4. วัสดุอุปกรณ์ (Material) ให้ความสำคัญกับ
- ข้อมูลพื้นฐานของศูนย์ผลิตฯ (รังสิต) โดยการสำรวจศักยภาพของหน่วยงานว่ามีห้องผลิตรายการห้องตัดต่อรายการเครื่องมืออุปกรณ์จำนวนเท่าใด ฯลฯ และพื้นที่โดยรอบ (บนพื้นที่ 13 ไร่ 2 งาน)
- การจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์แต่ละรายการแยกเป็นแต่ละปี
- การสำรวจอุปกรณ์เก่าที่ชำรุดเสียหายเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานเพื่อจำหน่วยโดยการขายทอดตลาดและเพื่อการบริจาคเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
- ระบบการจัดเก็บข้อมูล การบันทึกข้อมูลการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ห้องผลิตรายการห้องตัดต่อรายการห้องประชุม ฯลฯ เพื่อรวบรวมชั่วโมงการใช้งานในแต่ละไตรมาส และแต่ละปีงบประมาณ
- การจัดทำแผนพัฒนาครุภัณฑ์ในระยะยาว (แผน 3 - 5 ปี) ไว้ล่วงหน้าเพื่อการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ทดแทนของเดิมและการซ่อมบำรุง เป็นต้น
- การจัดทำแผนการซ่อมบำรุงและแผนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ห้องผลิตรายการ ห้องตัดต่อรายการ ฯลฯ ในแต่ละไตรมาสเพื่อให้การใช้งานและการบริการหน่วยงานเครือข่ายภายนอกเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- การใช้เครื่องมือสร้างฉากเสมือนจริง (Virtual Studio Set) ในการผลิตรายการโทรทัศน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากเรื่องของการจัดการคนเงินและอุปกรณ์แล้วอาคารสถานที่ก็มีความสำคัญโดยบริหารจัดการห้องทำงานต่างๆภายในอาคารศูนย์ผลิตฯ (รังสิต)ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสวยงามตามหลัก 5 ส และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ของหน่วยงานให้ดูสวยงามร่มรื่นน่าอยู่น่าอาศัยเพื่อขวัญกำลังใจของบุคลากรทุกคน
ประวัติความเป็นมาของศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาโดยย่อ มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อ การศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2532) และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2536 ด้วยงบประมาณโครงการ จำนวน 447,926,277 บาท มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ให้มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของกระทรวง ศึกษาธิการเต็มรูปแบบ กล่าวคือ มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากร โดยกำหนดให้มีการสร้างหน่วยงานใหม่มีชื่อว่า “ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา” ตั้งอยู่ ณ ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิตและมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตามโครงการประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ห้องผลิตรายการ ห้องประชุม ห้องอบรม อาคารหอพักและโรงอาหารสำหรับผู้เข้าอบรม และสถานที่อื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์ผลิตและศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านรายการ โทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป
วิกฤต เศรษฐกิจในช่วงปลายปี พ.ศ. 2540 มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ กล่าวคือ มีการลดค่าเงินบาท ทำให้อุปกรณ์การผลิตรายการที่จำเป็นมีราคาเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องปรับปรุงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์และรายละเอียดของโครงการ รวมทั้งมาตรการประหยัดงบประมาณของรัฐบาล ทำให้โครงการต้องมีการปรับลดงบเพื่อการก่อสร้างอาคารหอพักและโรงอาหารที่ใช้ รองรับการเป็นศูนย์ฝึกอบรมของกระทรวงลง ให้มีงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่จำเป็นเท่านั้น การดำเนินงานเพื่อการก่อสร้างอาคารและการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จและเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จึงนับเป็นศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์ฯ ที่สามารถรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี ประกอบกับในปีงบประมาณ 2553-2554 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณตามโครงการไทยเข้ม แข็งเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์การผลิตรายการ ส่งผลให้ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาได้รับการจัดสรร เงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ digital จากงบประมาณบางส่วนของโครงการ 357 ล้าน และ งบประมาณโครงการ 181 ล้าน ดังกล่าว จึงทำให้มีศักยภาพในการให้บริการด้านการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแก่ หน่วยงานภายในและหน่วยงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนผลิตรายการ
1.1 ห้องผลิตรายการ (Studio) จำนวน 3 ห้อง ขนาด 110 x 2 , 150 x 2 และ 350 x 2
1.2 ห้องตัดต่อรายการ (Edit) จำนวน 6 ห้อง
2. ส่วนสนับสนุน
3. ส่วนสำนักงาน